วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้อง Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ร่วมแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” ครั้งที่ 29 นำโดย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรม และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียด ดังนี้
การส่งออกสินค้าอาหารไทย 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงร้อยละ 2.32 จากร้อยละ 2.49 ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยตกลงมาในอันดับที่ 13 ของโลกจากอันดับที่ 11 ในปีก่อน
สำหรับตลาดอาหารส่งออกของไทยในปี 2563 มี 3 ตลาดหลักที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ จีน สหรัฐฯ และโอเชียเนีย โดยมีกลุ่มสินค้าหลักที่มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+9.1%) เครื่องปรุงรส (+8.1%) และอาหารพร้อมรับประทาน (+12.6%) ซึ่งสอดรับกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่บ้าน ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกลดลงได้แก่ ข้าว (-11.6%) ไก่ (-2.4%) น้ำตาลทราย (-40.6%) แป้งมันสำปะหลัง (-4.4%) กุ้ง (-13.8%) ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (-2.7%) และสับปะรด (-2.4%) ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทย ปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเริ่มให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 และการกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2564 ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส มะพร้าว อาหารพร้อมรับประทานและสับปะรด ขณะที่กุ้งเป็นสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าในปี 2564 โดยมีปัจจัยด้านลบ ได้แก่ การขาดแคลนวัตถุดิบ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ดร.พจน์ ให้รายละเอียดการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคการแปรรูปและส่งออกสินค้าอาหารของไทย อาทิ
1. การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในภาพรวม อยู่ในระดับ 800,000-1,000,000 ล้านบาท เนื่องจากไทยไม่มีการส่งเสริมและผลักดันการแปรรูปอย่างเป็นรูปธรรม
2. ประเทศคู่แข่งมีการปรับตัวในด้านการผลิตแลแปรรูปมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย
3. การถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป
4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
5. การขนส่งทางเรือ ตู้ขนส่งมีไม่เพียงพอ ซึ่งทาภาครัฐก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้
6. อัตราค่าจ้างแรงงานไทย เสียเปรียบประเทศคู่แข่งขันทางการค้า
7. ข้อจำกัดในด้านวัตถุดิบที่ใช้ในประเทศและการส่งออก
ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การแปรรูปและส่งออกอาหารให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการส่งออก และแบ่งกลุ่มผู้บริโภคในประเทศและส่งออกต่างประเทศให้ชัดเจน พร้อมทั้งศึกษาความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารปรับทิศทางให้อุตสาหกรรมอาหารยังคงอยู่และแข่งขันได้ในตลาดโลก
ดร.ผณิศวร กล่าวปิดท้ายในส่วนของภาคเกษตร ควรหาแนวทางและนโยบายในการผลักดันให้กับเกษตรกรมีรายได้และมูลค่าทางสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรมีบทบาทมากขึ้นในเวทีและตลาดการค้า ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงควรมีความชัดเจนในระดับนโยบาย เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก