สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียน ครั้งที่ 55-4/2565 ในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00-12.30 น. ทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
พิจารณาการจัดทำท่าทีสำหรับผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม JSC MRA on PF ครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีประเด็นและท่าทีจากที่ประชุม ดังนี้
1. การประเมินและข้อคิดเห็นที่ได้จากการฝึกอบรมสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอนุมัติ โดยการอบรม Training Module 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25–27 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00-17.30 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอนุมัติจำนวนทั้งหมด 21 คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอนุมัติจากประเทศไทยทั้ง 4 คนได้รับใบรับรองการเข้าร่วมอบรม Training Module 2 เรียบร้อยแล้ว และมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการอบรม Training Module 2 ไปยังเลขานุการอาเซียนและกำหนดท่าทีที่จะเสนอในที่ประชุม JSC MRA on PF ครั้งที่ 7 ดังนี้
- ขอให้เลขานุการอาเซียนเชิญผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ EU ARISE Plus เข้าร่วมในการประชุม JSC MRA on PF ครั้งต่อไป เพื่ออธิบายข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางข้อที่ยังไม่ชัดเจน และให้ JSC มีความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งสามารถพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจดำเนินการต่อไป
- ขอให้ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ EU ARISE Plus ชี้แจงข้อสังเกตที่พบในระหว่างการอบรม Training Module 2 ที่ใช้ประกอบเป็นเหตุผลในการเสนอข้อเสนอเพิ่มเติมคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึงความจำเป็นในการแก้ไขเกณฑ์คุณสมบัติสำหรับผู้เชี่ยวชาญใน SOP2 ให้ชัดเจน
- สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญศึกษา SOP2 และ SOP6 เพิ่มเติมด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินงานที่สนับสนุนงานภายใต้ MRA on PF
- ควรเสนอให้จัดทำคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจัดทำรายงานการประเมินเอกสารให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมกว่าสำหรับช่วงเวลานี้
- สนับสนุนข้อเสนอในการให้ JSC จัดฝึกอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนการประเมิน ณ สถานที่ (On-site Evaluation) สำหรับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับกระบวนการประเมิน ณ สถานที่ และการนำเอกสาร Annex 3.6 On-Site Evaluation Checklist และ Annex 3.8 Final Report for On-Site Evaluation ไปใช้
2. การวิเคราะห์ช่องว่างและการสร้างขีดความสามารถในการสนับสนุนการดำเนินงานตาม MRA on PF โดยตามที่เลขานุการอาเซียนได้ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดทำการวิเคราะห์ช่องว่างในการดำเนินงานตาม MRA on PF รวมถึงให้จัดทำแนวทางการสร้างขีดความสามารถเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว และส่งให้ EU ARISE Plus เพื่อพิจารณาสนับสนุนแนวทางการสร้างขีดความสามารถนั้น ทั้งนี้ ทาง EUARISE Plus ได้ตอบกลับผลการพิจารณาแนวทางดังกล่าวกลับมายังเลขานุการอาเซียนแล้ว โดย EU ARISE Plus จะสนับสนุนการอบรมให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนใน 4 เรื่อง ดังนี้
- การอบรม Food Safety Sampling โดยเชิญ PFPWG เข้าร่วมการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเป็นการจัดในรูปแบบ video conference
- การฝึกอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับ training on risk based inspection ปลายปี 2565
- การอบรม Food Toxicology (ยังไม่ได้กำหนดวันที่อบรม)
- การอบรม Risk Communications (ยังไม่ได้กำหนดวันที่อบรม)
ทั้งนี้ ในส่วนของท่าทีฝ่ายไทย จะเสนอให้มีการแชร์ข้อมูลในการอบรมในเรื่องข้างต้นให้กับทุกประเทศสมาชิก เพื่อให้แต่ละประเทศนำกลับไปทำ Internal Training เพิ่มเติม และจะขอเพิ่มชื่อผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมในการประชุมข้างต้นเพิ่มเติมด้วย
3. ความร่วมมือกับโครงการ ARISE Plus โดยที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Training Workshop on Food Safety Sampling” ระหว่างวันที่ 21 และ 23-25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30-18.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ซึ่งจะเสนอชื่อฝ่ายไทยเพื่อเข้าร่วมการอบรมต่อไป และขอให้ EU ARISE Plus รายงานผลการอบรมดังกล่าวในที่ประชุม JSC MRA on PF ครั้งที่ 7
4. การแจ้งความพร้อมในการเข้าร่วม MRA on PF โดยที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นให้แสดงท่าที ว่าประเทศไทยยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการหารือภายในประเทศ โดยจะแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมในการประชุม JSC MRA on PF
5. การเสนอชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้เชี่ยวชาญจากลาวและพม่า ตามที่มีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ (ชุดที่ 3) เพื่อตรวจประเมินความสอดคล้องของระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน ซึ่งลาวและพม่าได้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้พิจารณานั้น ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
- ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อจากลาวทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน (บริษัทที่ปรึกษา) โดยไม่ได้ทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ/หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล/หน่วยงานที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการตรวจสอบและการให้
การรับรอง ซึ่งอาจมีผลต่อความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการรักษาความลับ และมีความเกี่ยวข้องกับสถานะการจ้างงานของผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อ และเห็นว่าผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อจากลาวไม่เป็นไปตามเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ จึงเสนอให้ถอนชื่อผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อออกและให้ลาวเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นในการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญรอบต่อไป
- ผู้เชี่ยวชาญจากพม่ายังไม่ได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมมาเพื่อพิจารณา จึงเห็นควรให้เลื่อนกระบวนการพิจารณาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อจากพม่าออกไปก่อน ทั้งนี้ หากได้รับเอกสารเพิ่มเติม ที่ประชุมจะพิจารณาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเสนอชื่อจากพม่าในการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญรอบต่อไป อย่างไรก็ตาม หากผู้เชี่ยวชาญจากพม่าได้รับการคัดเลือกแล้ว ขอให้พม่าจัดอบรมใน Module ที่ 1 ภายในประเทศให้กับผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมาในเบื้องต้น
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นในที่ประชุม เพื่อจัดทำท่าทีฝ่ายไทยเสนอในการประชุม JSC MRA on PF ครั้งที่ 7 ต่อไป
