วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมวังใต้ จ.สุราษฎร์ธานี สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยนายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ (เลขาธิการสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย) คุณนารีรัตน์ จันทร์ทอง (รองผู้อำนวยการสมาคมฯ) และคุณวาสนา ตรังใจจริง เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมงานวันกุ้งไทย ครั้งที่ 31 โดยมีนายสินิตย์ เลิศไกร (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายศักดาพร รัตนสุภา (รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี) และนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ (รองอธิบดีกรมประมง) จัดโดยชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
ในการนี้ นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ (เลขาธิการสมาคมฯ) ได้รับเชิญให้บรรยายภายในหัวข้อ “ ราคากุ้งขาวปี 2565 ดีหรือดรอป ” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟัง ได้แก่ ผู้เลี้ยงกุ้ง นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้ง สรุปดังนี้
1. โครงการ shrimp board โดย นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ (รองอธิบดีกรมประมง) สถานการณ์ผลผลิตกุ้งของไทย และของโลก ผลผลิตกุ้งโลก ปี 2564 ปริมาณ 3.5 ล้านตัน และคาดว่าผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยง จะแทนที่ผลผลิตกุ้งที่มาจากธรรมชาติ เนื่องจากกฎหมายการเลี้ยงสัตว์น้ำในธรรมชาติ มีกฏระเบียบที่เข้มงวดมาก ประเทศที่ยังไม่พัฒนาไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ ทั้งนี้ ประเทศที่มีพื้นที่มากอย่างเอกวาดอร์ และอินเดีย มีโอกาสที่จะพัฒนาให้ได้ผลผลิตมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ เรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลผลิตกุ้งของไทย ปี 2564 ผลผลิตจากภาคใต้ตอนบน มีปริมาณ 81,000 ตัน ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 53,000 ตัน ภาคใต้ตอนบนฝั่งอ่าวไทย 32,000 ตัน ภาคตะวันออก 57,000 ตัน และภาคกลาง 29,000 ตัน ผลผลิตดีขึ้นต่อเนื่องทุกปี หลังจากที่ไทยเกิดโรค EMS ระบาด ตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการเรื่องโรคได้
ตลาดอเมริกา เป็นตลาดหลักกุ้งไทย สัดส่วนกุ้งไทยในตลาดอเมริกา 30% อดีตไทยเคยอยู่อันดับที่ 1 แต่ปัจจุบัน ไทยอยู่อันดับที่ 5 รองจากอินเดีย อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเวียดนาม ตรงกันข้ามกับอินเดีย ที่พัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันครองอันดับ 1 ในตลาดอเมริกา ตลาดรองลงมาคือตลาดญี่ปุ่น สัดส่วนกุ้งไทยในตลาดญี่ปุ่น 24 % และตลาดจีน 16 %
กรมประมง กำหนดให้กุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำควบคุม โดยเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) และ ลงทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) เพื่อควบคุมให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และหากจะเพิ่มผลผลิตกุ้งไทย ให้ได้ 400,000 ตัน ภายใน 2 ปี ต้องพัฒนาตั้งแต่สายพันธุ์กุ้ง และพัฒนาการเลี้ยงอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซ้ำซ้อน และความคลุมเครือ หรือที่เรียกว่า VUCA ทำให้ไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่องของเศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ต้องเจอกับความเสี่ยง ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ค่อนข้างแก้ไขได้ยาก ดังนั้น การแก้ไขคือ การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้น จึงเกิดการจัดตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์หรือ Shrimp Board ประกอบ ด้วยผู้แทนจากภาคผู้เลี้ยง ภาคผู้ส่งออก และภาครัฐ ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรม โดยได้ประชุมหารือ และดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 รวมถึง การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมจะปรับคณะกรรมการให้ครอบคลุมห่วงโซ่มากขึ้น โดยให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ และ อธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการ และเลขานุการในคณะ shrimp board โดยมีนโยบาย การตลาดนำการผลิต และตั้งเป้าหมาย ดังนี้
* ฟื้นฟูผลผลิตกุ้ง 400,000 ตัน ภายใน 2 ปี
* จัดทำโครงการ shrimp Sandbox กุ้งปลอดโรค
* พิจารณาอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากประเทศอินเดีย และ เอกวาดอร์
2. ราคากุ้งขาว ปี 2565 ดี หรือ ดรอป โดย นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ (เลขาธิการสมาคมฯ)
ผลผลิตกุ้งไทย และกุ้งโลก
ผลผลิตกุ้งไทยลดลงต่อเนื่องตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกุ้งไทยอาจจะล่มสลายได้ และในปี 2564 ผลผลิตกุ้งไทยลดลง 12% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเอกวาดอร์ ผลผลิตปี 2564 ปริมาณ 970,000 ตัน ส่งออก 840,000 ตัน การเติบโตของเอกวาดอร์จะแทนที่ตลาดของไทยและตลาดอื่นๆ ภาพรวมผลผลิตกุ้งโลกปริมาณ 4.2 ล้านตัน ผลผลิตกุ้งไทยปี 2564 ปริมาณ 250,000 ตัน คิดเป็น 6% ของผลผลิตกุ้งโลก
ราคากุ้ง
ราคากุ้งของไทย สูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนของโครงการ Shrimp Board ที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ราคาสูงต่อเนื่องแบบนี้ อุตสาหกรรมอาจอยู่ได้ไม่นาน และในระยะยาวไม่ดีต่อทุกฝ่าย และสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่สูง ราคากุ้งไทย ติด TOP 3 ราคากุ้งแพง เมื่อเทียบกับราคาประเทศอื่นๆ
การส่งออกกุ้งในตลาดหลัก (อเมริกา จีน ญี่ปุ่น)
ตลาดอเมริกา ในอดีตไทยได้สัดส่วนตลาดอเมริกา 75% ปัจจุบันลดลงเหลือ 28% โดยสัดส่วนปริมาณกุ้งไทยที่เข้าตลาดอเมริกา คิดเป็น 4% ของปริมาณกุ้งที่เข้าอเมริกาทั้งหมด สำหรับประเทศอินเดียครองอันดับที่ 1 ของอเมริกาคิดเป็น 38% ของปริมาณกุ้งที่เข้าอเมริกาทั้งหมด
ตลาดญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าของไทยมานาน สัดส่วนส่งออกกุ้งไทยไปตลาดญี่ปุ่น 22 % โดยสัดส่วนปริมาณกุ้งไทยที่เข้าตลาดญี่ปุ่น 14% จากข้อมูลการนำเข้ากุ้งของญี่ปุ่น จะเห็นว่าญี่ปุ่นกระจายความเสี่ยง โดยการนำเข้ากุ้งจากหลายประเทศ ไม่พึ่งพาประเทศใดมากเกินไป
ตลาดจีน สัดส่วนส่งออกกุ้งไทยไปตลาดจีน 16% โดยสัดส่วนปริมาณกุ้งไทยที่เข้าตลาดจีน คิดเป็น 4% ภาพรวม 3 ประเทศ คิดเป็น 66% ของผลผลิตกุ้งไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้น ควรรักษาตลาดหลักไว้ให้ดี
มุมมองของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์กุ้ง
ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเน้นเรื่อง ความสด สะอาด สีสวย ปลอดสารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กุ้งปลอดสารตกค้างยังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อจริงหรือไม่? จากข้อมูลการปฏิเสธกุ้งนำเข้าที่ตรวจพบสารตกค้างในกุ้งจากประเทศอินเดีย 6 ครั้ง จาก 22,074 ตู้ คิดเป็น 0.027 %ปฏิเสธจากเวียดนาม 15 ครั้ง จาก 5,580 ตู้ คิดเป็น 0.27% ในความเป็นจริงถึงแม้กุ้งไทยไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง ก็ไม่มีความแตกต่างจากประเทศที่ตรวจพบ เพราะลูกค้าตัดสินใจซื้อกุ้งไทยไม่ใช่แค่ปลอดสารตกค้างเท่านั้น แต่ดูเรื่องของต้นทุนด้วย และประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาด้านการผลิตอยู่ตลอดเวลา
ราคากุ้งดี…ดีสำหรับใคร ?
พูดถึงราคากุ้งที่ดี หากราคาสูงดีต่อผู้เลี้ยง ราคาถูกดีต่อห้องเย็น แต่เมื่อไรที่อุตสาหกรรมไม่แข็งแรง ไม่ว่าราคานั้นจะสูงหรือต่ำ หากราคาไม่เสถียร มีความผันผวน ผู้เลี้ยงหรือห้องเย็นก็ไม่สามารถที่จะประคองธุรกิจของตนเองได้ ดังนั้น ราคาที่ดี คือ ราคาที่อยู่ในช่วงที่ผู้เลี้ยงและห้องเย็นรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย และควรมีความเสถียร เป็นแรงจูงใจให้ผู้เลี้ยงลงเลี้ยงกุ้งต่อได้ และห้องเย็นสามารถทำราคาขาย และรับ order จากลูกค้าได้
การนำเข้ากุ้งราคาถูก เพื่อจุนเจือราคากุ้งไทย
การนำเข้ากุ้งราคาถูก จุนเจือราคากุ้งไทยได้อย่างไร? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ และเปลี่ยนหลักการคิด ตัวอย่างเช่น กุ้งไทย ขนาด 50 ตัว/กก. ราคา 140 บาท ประเทศคู่แข่ง กุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ราคา 125 บาท ราคากุ้งประเทศคู่แข่งถูกกว่าของไทย หากมีปริมาณออกสู่ตลาดมากและเราไม่ซื้อหรือดึงออกจากตลาดโลกบ้าง ประเทศคู่แข่งจะนำกุ้งไปขายในราคาถูกให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงตลาดหลักกุ้งของไทย แทนที่เราจะซื้อหรือนำเข้ากุ้งถูกนั้น แล้วนำมาแปรรูปเพื่อส่งออก อีกทั้ง ยังสามารถรักษาตลาดกุ้งไทย และนำมาจุนเจือราคากุ้งในประเทศได้ จากราคา 140 บาท อาจขยับขึ้น เป็น 155 บาท ถึงแม้ว่าราคาไม่สูงมากแต่ผู้เลี้ยงก็ไม่ขาดทุน และทำให้อุตสาหกรรมกุ้งกลับแข็งแรงอีกครั้ง
ทั้งนี้ คาดว่าการนำเข้าประมาณ 40,000 - 50,000 ตัน/ปี ซึ่งจะนำมาใช้ในช่วงที่ผลผลิตกุ้งไทยออกน้อย เพื่อเลี้ยงคนงานให้มีงานทำ มีกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตน้อยช่วงปลายปี-ต้นปีของทุกปี (เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์)
ดังนั้น อุตสาหกรรมกุ้งจะกลับมาแข็งแรงได้ ต้องมีการนำเข้ากุ้ง เพื่อรักษาคนงาน ให้มีงานทำ และรักษาฐานตลาดหลักกุ้งของไทย รวมถึง ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน เพื่ออุตสาหกรรม และคนรุ่นถัดไป
คาดการณ์ราคากุ้งขาว ปี 2565
30 ตัว ราคาต่ำสุด 180 บาท ราคาสูงสุด 220 บาท
50 ตัว ราคาต่ำสุด 155 บาท ราคาสูงสุด 185 บาท
70 ตัว ราคาต่ำสุด 135 บาท ราคาสูงสุด 165 บาท
100 ตัว ราคาต่ำสุด 115 บาท ราคาสูงสุด 135 บาท
3. เสวนาตลาดกุ้งกุลาดำต้ม (พรีเมี่ยม) แบบไหนโดนใจผู้ซื้อ ระหว่างฟาร์มเลี้ยง- ห้องเย็น
ดำเนินรายการโดย นายศักดิ์สหกรณ์ คงสมุทร (ประธานคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย)
ปี 2565 ประธานคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย ตั้งเป้าหมายผลผลิตกุ้งกุลาดำ จำนวน 15,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันกุ้งกุลาดำมีอัตรารอดอยู่ที่ 10 ตันต่อ 1 ล้าน PL และสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องคำนึงก่อนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ คือ รูปแบบการเลี้ยง การคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะเลี้ยง และการจัดการการขายกุ้งกุลาดำ ทั้งนี้มุมมองของฟาร์มเลี้ยง และห้องเย็นมองตลาดกุ้งกุลาดำอย่างไร ?
คุณเจษฎ์ (บจก.ไทยลักซ์)
ตลาดกุ้งกุลาดำตลาดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสายพันธุ์กุ้งกุลาดำค่อนข้างนิ่งแล้ว เช่นสายพันธุ์โมอาน่า, ลายทอง CPF, กุ้งท้องถิ่น และ สายพันธุ์ Black gen. ด้านราคาเชื่อว่ากุ้งขาวผันผวนมากกว่ากุ้งกุลาดำ และมองว่ากุ้งกุลาดำสามารถแข่งขัน และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ทางด้าน spec กุ้งกุลาดำของจีนหรือเวียดนาม ยังสู้ของไทยไม่ได้ คุณภาพกุ้งกุลาดำของไทยแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ ทั้งนี้ ปัญหาด้านโรค EHP ขี้ขาว ไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ปัญหาการผลิตกุ้งกุลาดำที่พบส่วนใหญ่ คือ กุ้งลอกคราบแล้วเปลือกยังไม่แข็ง เมื่อจับแล้วนำมาต้มท้องจะขาว รวมถึงปัญหากุ้งหัวแตกมัน และตัวสีฟ้าทำให้กุ้งตัวน่วม
คุณพงศ์ เลิศชูสกุล (บจก. โกลด์เด้น ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล)
• กุ้งกุลาดำถือเป็น niche Market โดยเน้นเรื่อง สี หากทำกุ้งพรีเมี่ยมสีต้องได้ 29+ หากทำสี 29+ไม่ได้ จะสู้ราคาเวียดนามไม่ได้ ซึ่งการทำสี 29+ ค่อนข้างทำได้ยากมาก แต่ถ้าทำได้กำไรแน่นอน ห้องเย็นกล้าซื้อ และทำตลาดได้ง่าย
• กุ้งกุลาดำหลังต้ม กรณีมีรอยดำที่ท้องกุ้ง คาดว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความเย็นไม่ทั่วถึง
• ขอให้ผู้เลี้ยงวางแผนการเลี้ยง 2 ขั้นตอน ขั้น 1 เลี้ยง 2-3 บ่อ ถ้าเลี้ยงผ่าน ค่อยขยายเพิ่มเป็น 4-5 บ่อได้ และถ้าเลี้ยงผ่านได้ดี อยากให้รวมกลุ่มเลี้ยงเป็นคลัสเตอร์ และควรหารือกับห้องเย็นก่อน เพื่อวางแผนการผลิต และตลาดให้สอดคล้องกัน
คุณป๋อง (ผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ อ.ไชยา)
ปัจจุบันเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 40 บ่อ ส่วนตัวคิดว่ากุ้งขาวเลี้ยงยาก จึงหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อปี 2562 จับจุดได้ว่าต้องทำเรื่องสีให้ได้ 30 up โดยบ่อต้องสะอาด ดูดขี้เลนออก และให้อาหารเร่งสีตอนจะจับกุ้ง เกษตรกรรายใหม่ ไม่แนะนำให้เลี้ยงหนาแน่น แนะนำเลี้ยงบ่อดินจะดีกว่าบ่อปูพีอี
คุณวุฒิชัย (ห้องเย็นจ.ตรัง)
หากกุ้งกุลาดำต้ม สีต่ำกว่า 28 จะเป็นเกรดบี ราคาต่ำกว่าเกรดพรีเมี่ยม ประมาณ 15 บาท