วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30-16.20 น. ทางระบบ Zoom Online Meeting
สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 1/2565 โดยมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ ดังนี้
1. ที่ประชุม รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564
2. ความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการฯ
2.1 คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน มีความก้าวหน้าและประเด็นพิจารณา ดังนี้
รับทราบการดำเนินการเพื่อรองรับกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act: MMPA) ของสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อเสนอแนะว่า ที่ผ่านมาในเรื่องการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐอยู่แล้วทั้งในเรื่องแหล่งทำการประมงและเครื่องมือประมง ที่อาจได้รับผลกระทบ แต่ควรเพิ่มในเรื่องของการดูแลกรณีติดเครื่องมือประมงแล้วจะช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร โดยอาจมีสถานที่พักฟื้นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเบื้องต้นก่อนจะได้กับการรักษาในระดับต่อไป
การเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans – Pacific Partnership : CPTPP) โดยคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้จัดทำรายละเอียดที่มีความชัดเจนและสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงรับทราบข้อมูล และจัดทำข้อมูลประเด็นการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงกับประเทศที่ได้มีการทำ FTA ไปแล้ว ว่ามีผลกระทบอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
การศึกษาวิจัย เพื่อการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก สืบเนื่องจากข้อร้องเรียนของกลุ่มสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กรณีขอให้ออกมาตรการกำหนดควบคุมขนาดสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนตามมาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง กรมประมงจึงได้มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลไปศึกษาการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลได้กำหนดชนิดและขนาดที่เหมาะสมของ
สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่จะใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ ตามมาตรา 57 หรือตามมาตรา 71 (2) ดังนี้
1) กำหนดชนิดสัตว์น้ำโดยพิจารณาจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีผลจับปริมาณมากและพบรายงานการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงคัดเลือกสัตว์น้ำ 2 กลุ่ม ได้แก่ ปลาทู-ลัง และปูม้า เป็นตัวอย่างนำร่อง
2) กำหนดขนาดสัตว์น้ำที่อนุญาตให้จับได้หรือนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง โดยใช้ความยาวเล็กสุดที่สามารถสืบพันธุ์ได้ของปลาทู-ลัง เท่ากับ 15.00 เซนติเมตร และปูม้า เท่ากับ 8.50 เซนติเมตร
3) กำหนดเกณฑ์ปริมาณการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ ไม่เกินร้อยละ 10 โดยน้ำหนักต่อปริมาณการจับสัตว์น้ำทั้งหมดของแต่ละเครื่องมือ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำโดยรวมและชาวประมงส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้
ทั้งนี้ ชาวประมงบางส่วนยังคงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในมาตรการนี้ จึงขอให้กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลประสานงานสมาคมสมาพันธ์
ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป
2.2 คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย มีความก้าวหน้าและประเด็นพิจารณา ดังนี้
ความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำการประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) โดยกรมประมงได้จัดส่งข้อมูลเพื่อรายงานประกอบการประเมินเปรียบเทียบที่บันทึกลงระบบ IAICRS เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยทางสหรัฐฯ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการประกาศผลการพิจารณาก่อนบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 และได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566-2570 เรียบร้อยแล้ว
ผลการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงลอบปูแบบพับได้และอวนลากในการกำหนดมาตรฐานเครื่องมือประมงทะเล ซึ่งมีข้อเสนอในการสอบถามความคิดเห็น 2 ข้อ คือ เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ลอบปูแบบพับได้ที่ใช้อวนขนาด 2.5 นิ้วหุ้มทุกด้าน และเสนอให้ใช้ถุงอวนที่มีเนื้ออวนทุกส่วนมีขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร สำหรับอวนลากทุกชนิด ซึ่งผลของการรับฟังความคิดเห็นชาวประมงส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงนี้ ที่ประชุมได้รับทราบและได้มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการที่ประกาศใช้แล้วเพื่อทำความเข้าใจกับชาวประมงในเรื่องขนาดช่องตาอวน และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความคืบหน้าแผนบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 (Marine Fisheries Management Plan of Thailand 2020 – 2022: FMP) ซึ่งกรมประมงได้จัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย (Fisheries Management Plan of Thailand : FMP) พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2562 และได้เสนอแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่ง สศช.ได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการประมงทะเลฯ และมีมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 และให้กรมประมงดำเนินการเสนอแผนการบริหารจัดการประมงทะเลฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0518.3/251 ลงวันที่ 19 มกราคม 2565 ขอความเห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว
2.3 คณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ มีความก้าวหน้าและประเด็นพิจารณา ดังนี้
กฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of People's Republic of China: GACC) ประกาศกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ (Regulations on the Registration and Administration of Overseas Producers of Imported Food: Decree 248) โดยกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารจำนวน 18 รายการซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต้องขึ้นทะเบียนในระบบการจัดการการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ (China Import Food Enterprises Registration: CIFER) ผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจ (Competent Authority) ของประเทศผู้ส่งออก สำหรับผู้ผลิตสินค้าอาหารนอกเหนือจาก 18 รายการ ผู้ผลิตต้องลงทะเบียนในระบบ CIFER ด้วยตัวเองหรือผ่านตัวแทน กฎระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 สำหรับสถานประกอบการผลิตสินค้าประมงของไทยที่กรมประมงเสนอรายชื่อและได้รับการขึ้นทะเบียนกับ GACC แล้ว การขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับใช้ต่อไป
การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ซึ่งกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก จำนวน 260 ฉบับ โดยออกให้โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำแช่เยือกแข็งจำนวน 128 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง จำนวน 36 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าพื้นเมือง จำนวน 83 ฉบับ สถานบรรจุสัตว์น้ำ จำนวน 12 ฉบับ และห้องเย็นรับฝาก จำนวน 1 ฉบับ
โครงการปรับปรุงการทำประมงเพื่อเข้าสู่มาตรฐานประมงยั่งยืนสากล
1) โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกับกรมประมงได้จัดส่งความคืบหน้ากิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงาน Marine Resources Assessor Group (MRAG) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ ของปีที่ 4 และได้รับการประกาศผลการประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ ให้อยู่ในระดับ A (Advance Progress) บนเว็บไซต์ fisheryprogress.org แล้ว
2) โครงการปรับปรุงการทำประมงอวนล้อมปลาโอดำอย่างยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกับกรมประมงได้จัดส่งความคืบหน้ารายกิจกรรมให้กับ Key Traceability Ltd. เพื่อวิเคราะห์และประเมินความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงการทำประมงอวนล้อมปลาโอดำอย่างยั่งยืน (Gulf of Thailand Longtail Tuna Purse Seine FIP) ของปีที่1 รอบการประเมิน 6 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 และได้รับการประกาศผลการประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ ให้อยู่ในระดับ C (Some Recent Progress) บนเว็บไซต์ fisheryprogress.org แล้ว
3) โครงการปรับปรุงการทำการประมงอวนลากอย่างยั่งยืน (กรณีศึกษาพื้นที่อ่าวไทย) ได้มีการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา เพื่อจัดทำข้อมูลปรับปรุงผลการประเมินเบื้องต้นของโครงการฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การประมงในปัจจุบันซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยในนามคณะทำงานการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทย (TSFR) ได้จัดส่งข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมไปให้ทาง Marin Trust เพื่อปรับปรุงข้อมูลผลการประเมินเบื้องต้นใหม่แล้ว
3. ร่างโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2564 กรมประมงได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภายในกรมประมงที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 และ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อปรับรายละเอียดโครงการฯ แล้ว และได้จัดทำ (ร่าง) “โครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2564 ระยะที่ 1” เพื่อขอใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เสร็จเรียบร้อยแล้ว

