สรุปการเข้าร่วมงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565 วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 10.30-12.00 น. ผ่านระบบ Google Hangouts Meet
ผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของสหรัฐฯ และ EU คาดการณ์เบื้องต้นว่า อาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงาน โดยรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กดดันให้ราคาน้ำมันและก๊าซปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน
ประเมินในเบื้องต้นว่า หากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายหรือขยายวงกว้างไปมากกว่านี้และสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายในสามเดือน การส่งออกของไทย ปี 2565 คาดว่าจะเติบโตได้ 5% โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ 7-8% เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2 คาดการณ์ว่าจะมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่มีการเติบโต โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า
การปิดกั้นระบบ SWIFT จะกระทบต่อธุรกรรมการเงินในรัสเซีย โดยในระยะสั้น ขอให้ผู้ประกอบการรับชำระเงินก่อนที่จะมีการผลิตหรือการส่งมอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยง อีกทั้งต้องมีการเจรจากับคู่ค้าว่าจะมีวิธีการอย่างไร อีกทั้งต้องดูความชัดเจนของรัฐบาลไทยว่าจะมีจุยืนในความขัดแย้งตรงนี้อย่างไร
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.38% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไปยูเครนในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.05% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกอื่นๆ
1.ค่าเงินบาทมีความผันผวนไปในทิศทางแข็งค่าต่ำสุดในรอบ 5-7 เดือน เนื่องจากเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดทุนและตลาดพันธบัตรของไทยจำนวนมาก
2.แรงงานภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว
3.การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 โดยหลายประเทศมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอกรวมถึงประเทศไทย
4.ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหาค่าระวางเรือยังทรงตัวในระดับสูง
ข้อเสนอแนะของ สรท.
1.รักษาเสถรียภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น
3.เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดเพิ่มเติม เพื่อทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ หากการสู้รบขยายเป็นวงกว้าง
4. ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง
